fbpx

10 ยารักษาโรคปลาคาร์ป ปลาป่วย ใช้ยาอะไรดี?

การเลี้ยงปลาคาร์ปในปัจจุบันตอนนี้เป็นที่นิยมมาก เพราะเป็นปลาที่มีสีสันสดใสถูกใจใครหลายๆคน และมีหลากหลายสายพันธุ์ให้เลือก โดยแต่ละสายพันธุ์ก็มีลักษณะและสีที่แตกต่างกันออกไป มูลค่าของปลาคาร์ปแต่ละตัวก็มากพอๆกับสีสันของมันกันเลยทีเดียว ดังนั้นเมื่อวันหนึ่งปลาคาร์ปของเราเกิดป่วยขึ้นมา ผู้เลี้ยงหลายๆท่านคงจะเป็นกังวลกันไม่น้อย โรคที่เกิดจากปลาคาร์ปก็มีค่อนข้างหลายโรค แล้วแบบนี้เราจะใช้ยาประเภทไหนให้เหมาะสมและสามารถแก้ไขอาการป่วยของปลาคาร์ปได้บ้าง วันนี้ KOIKOITO มีคำแนะนำ 10 ยารักษาโรคในปลาคาร์ป มาฝากผู้เลี้ยงทุกๆท่าน เป็นแนวทางในการดูแลปลาคาร์ปของทุกคนให้มีสุขภาพที่แข็งแรงและลดการเกิดโรคต่างๆในระยะยาวได้


ฟอร์มาลิน (Formalin)

ฟอร์มาลิน (Formalin) บางคนได้ยินชื่อนี้ก็จะรู้สึกกลัวและไม่กล้าใช้ เพราะกิตติศัพท์ที่ได้ยินมาก็ขนหัวลุก แต่แท้จริงแล้ว ฟอร์มาลีนนี้เป็นยาสามัญประจำตู้ของผู้เลี้ยงปลาคาร์ปหลายๆท่าน เป็นสารเคมีชนิดหนึ่งที่สามารถฆ่าสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กอย่างโปรโตซัวและปรสิตได้ ซึ่งทั้งสองอย่างนี้เป็นต้นเหตุของปัญหาและโรคต่างๆที่เกิดขึ้นกับปลาคาร์ปของเรา ไม่ว่าจะเป็นโรคปรสิตผิวหนัง โรคจุดขาว เห็บปลา โรคตกเลือดตามซอกเกล็ด ซึ่งโรคต่างๆเหล่านี้สามารถใช้ฟอร์มาลินเพื่อรักษาได้ ข้อสำคัญในการใช้งานจะต้องผสมให้ได้สัดส่วนที่เหมาะสม โดยแต่ละโรคจะใช้สัดส่วนของฟอร์มาลินในปริมาณที่ต่างกัน ทางที่ดีควรใช้ที่ชั่งตวงวัดในปริมาณที่จะใช้ จะเป็นการดีที่สุด การใช้งานควรอยู่ในปริมาณที่ค่าความเข้มข้นต่ำมาก และควรใช้ในช่วงเวลาที่มีแสงแดด และไม่ควรใช้ฟอร์มาลินร่วมกับด่างทับทิมเพราะอาจจะทำให้เกิดความเป็นพิษต่อปลาคาร์ปได้ เมื่อใช้เสร็จแล้วควรเก็บไว้ในภาชนะที่ทึบแสง หรือเก็บไว้ในที่ที่ไม่โดนแดดจัด มีอากาศที่ถ่ายเท่สะดวก การใช้ฟอร์มาลินเพื่อรักษาปลาคาร์ปจะต้องอยู่ในข้อจำกัดที่ถูกต้อง แนะนำให้ผู้เลี้ยงศึกษาให้ดีก่อนที่จะใช้งาน

ข้อควรระวัง : ไม่ควรใช้ฟอร์มาลินร่วมกับด่างทับทิมเพราะอาจจะทำให้เกิดความเป็นพิษต่อปลาคาร์ปได้ เมื่อใช้เสร็จแล้วควรเก็บไว้ในภาชนะที่ทึบแสง หรือเก็บไว้ในที่ที่ไม่โดนแดดจัด


เอนโรฟลอคซาซิน (Enrofloxacin)

เอนโรฟลอคซาซิน (Enrofloxacin) เป็นยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาและยับยั้งเชื้อแบคทีเรียเป็นสาเหตุที่ทำให้ปลามีอาการตัวแดง หางเปื่อย ตัวเปื่อย ครีบหุบ เกล็ดพอง มีเส้นเลือดตามตัวหรือมีแบคทีเรียอื่นๆอยู่ในตัว สามารถใช้ยาชนิดนี้รักษาได้ ใช้กำจัดแบคทีเรียชนิดแกรมบวก (Gram-positive bacteria) และเชื้อแบคทีเรียชนิดแกรมลบ (Gram-negative bacteria) เป็นยาที่ออกฤทธิ์ได้ดี โดยออกฤทธิ์ยับยั้ง DNA-gyrase ดูดซึมเร็ว มีความปลอดภัย สะดวกต่อการใช้ใช้รักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่ไวต่อยา Enrofloxacin ในระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร ระบบสืบพันธุ์ ผู้เลี้ยงหลายๆท่านก็รู้จักกันดีมีการใช้อย่างแพร่หลายทั้งในฟาร์มปลาและฟาร์มกุ้ง สามารถใช้อย่างต่อเนื่องทุกวันจนกว่าอาการป่วยของปลาจะดีขึ้นได้ ไม่ก่อให้เกิดสารตกค้างในตัวปลา สามารถใช้ผสมกับน้ำ หรือคลุกผสมกับอาหารให้ปลาคาร์ปรับประทานได้

ข้อควรระวัง : ห้ามสูดดม ห้ามสัมผัสดวงตาและผิวหนังโดยตรง


แอนตี้แบค (Anti Bac)

แอนตี้แบค (Anti Bac) เป็นยาที่ใช้รักษาอาการติดเชื้อจากแบคทีเรีย ตั้งแต่ขั้นเล็กน้อยไปจนถึงขั้นรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นแผลอักเสบเหงือกอักเสบ ลำตัวเป็นขุย ติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร ตกเลือด หรืออาการภายนอกต่างๆสามารถฆ่าเชื้อและยับยั้งการเจริญเติบโตแบคทีเรียได้อย่างดีและรวดเร็ว รวมถึงโรคแทรกซ้อนที่เกิดจากแบคทีเรียอีกด้วย มีฤทธิ์ในวงกว้างฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ทั้งแกรมบวกและแกรมลบคล้ายๆกับเอนโรฟลอคซาซิน ส่วนใหญ่ผู้เลี้ยงและเจ้าของฟาร์มต่างๆนิยมนำ แอนตี้แบค (Anti Bac) มาใช้ในการผสมน้ำเพื่อกักโรคปลาก่อนลงบ่อ หรือ ส่งปลาต่อไปยังสถานที่ต่างๆ เป็นขั้นตอนสำคัญในการป้องกันโรคและรักษาสุขภาพปลาคาร์ป ทำให้ปลาปลอดภัยต่อแบคทีเรียต่างๆที่ติดตามตัวมา และยังสามารถใช้ผสมกับอาหารเพื่อให้ปลากินติดต่อกันได้ทุกวันจนกว่าจะหายจากอาการป่วยได้อีกด้วย

ข้อควรระวัง : เก็บอย่างมิดชิด หลีกเลี่ยงแสงแดด เพราะอาจจะทำให้ยาเสื่อมสภาพได้


ทิปกิน (Tipkin)

ทิปกิน (Tipkin) เป็นยาปฏิชีวนะที่ใช้ในการรักษาอาการป่วยที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียได้อย่างครอบคลุม (broad spectrum) ตัวยาเป็นสีใสไม่มีสี สำหรับปลาที่ติดเชื้ออย่างรุนแรงก็สามารถใช้ได้ ออกฤทธิ์อย่างสมดุล ไม่ส่งผลข้างเคียงแก่ปลา ไม่ว่าจะมีแผลเปื่อย มีหนอง พุพอง แผลอักเสบอย่างรุนแรง มีเส้นเลือดขึ้นตามตัว ก็สามารถใช้ยาชนิดนี้ฉีดเพื่อรักษาได้ ฉีดเข้าที่กล้ามเนื้อของปลา บริเวณครีบอก สามารถฉีดได้วันเว้นวันจนกว่าปลาจะอาการดีขึ้น แต่ไม่ควรเกิน 2 สัปดาห์

ข้อควรระวัง : ไม่ควรฉีดติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์


ด่างทับทิม (Potassium Permanganate)

ด่างทับทิม (Potassium Permanganate) ชื่อนี้รู้จักกันดี เป็นสารเคมีสีม่วงเข้ม หาซื้อได้ง่ายตามร้านขายยาทั่วไป นิยมใช้กันในหลากหลายวงการ เพราะมีสรรพคุณในการต้านเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย สามารถใช้ล้างทำความสะอาดตู้ปลา บ่อปลา อุปกรณ์การเลี้ยงปลา และกำจัดแบคทีเรีย ปรสิต ในตู้ปลา ด้วยการใส่ด่างทับทิมลงไปในน้ำ แล้วแช่ทิ้งไว้ 1 คืน หรือจะแก้อาการป่วยของปลาคาร์ปที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ไม่ว่าจะเป็นโรคเห็บปลา ปลาตัวแดง ปลานอนก้นบ่อ รักษาแผลในตัวปลา ก็สามารถใช้ด่างทับทิมในการรักษาได้ โดยการใช้งานจะต้องใช้กับความเข้มข้น 2 – 4 ppm เพื่อฆ่าเชื้อโรคต่างๆ

ข้อควรระวัง : ระวังการใช้ในปริมาณสูงเพราะอาจทำให้ปลาเป็นแผลไหม้


เกลือสมุทร (Sea Salt)

เกลือสมุทร หรือ เกลือทะเล (Sea Salt) เป็นยาสามัญประจำตู้อีกชนิดหนึ่งของผู้เลี้ยงปลาคาร์ปและปลาสวยงาม สรรพคุณไม่ได้มีแค่ความเค็มเท่านั้น แต่ยังมีระโยชน์ต่อปลาได้อีก เกลือจะช่วยทำให้ปลาคาร์ปของเราปรับสมดุลระหว่างภายในตัวได้ง่ายขึ้น เกลือจะเข้าไปช่วยลดแรงดันของน้ำที่เข้าไปอยู่ในตัวปลา ทำให้ปลามีพลังงานไปใช้ต่อสู้กับเชื้อโรค หรือ ช่วยลดความเครียดของปลา รวมไปถึงกำจัดปรสิตภายนอก ฆ่าเชื้อโรคบางชนิด และยังกระตุ้นให้ปลา สร้างเมือก การใช้เกลือกับปลา สามารถใส่ได้ในหลายขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นตอนที่ปลาป่วย เปลี่ยนน้ำใหม่ ย้ายปลา และในเวลาที่ปลาปกติจะเป็นการป้องกันปรสิต ซึ่งเกลือสมุทรมีประโยชน์ทั้งแบบ รักษาโรค และ ป้องกันโรค ในเวลาเดียวกัน

ข้อควรระวัง : ระวังไม่ใช้ในปริมาณสูงเกินไปเพื่อป้องกันการเปลี่ยนแปลงความดันออสโมซิสของปลา และเกลือที่ไม่ควรมีสารไอโอดีนเติมเสริมเข้าไป


ไซคลอสเปรย์ (Cyclo Spray)

ไซคลอสเปรย์ (Cyclo Spray) เป็นสเปรย์สำหรับพ่นรักษาบาดแผลภายนอก ป้องกันและรักษาอาการติดเชื้อของบาดแผลต่างๆ มีส่วนประกอบด้วยตัวยา คลอเตตร้าไซคลิน และ ไฮโดรคลอไรด์ ไม่ว่าจะเป็น แผลสด แผลเปื่อย แผลติดเชื้อ แผลอักเสบ เป็นหนอง และแผลผ่าตัด ควรทำความสะอาดแผลให้เรียบร้อยก่อน ลอกคราบเลือด คราบน้ำเหลือง และเศษเนื้อที่ตายออก จากนั้นฉีดพ่นให้ทั่วบริเวณบาดแผลที่ต้องการรักษาได้เลย เพื่อให้ตัวยาออกฤทธิ์รักษาบาดแผลที่ติดเชื้อได้ดี ปกติแล้วยาชนิดนี้ส่วนใหญ่ผู้เลี้ยงจะใช้กับสัตว์ใหญ่ แต่กับปลาคาร์ปก็สามารถใช้รักษาแผลเป็นได้เช่นกัน ไม่เป็นอันตรายต่อปลาคาร์ป

ข้อควรระวัง : เป็นยาที่ใช้ภายนอกเท่านั้น เก็บในที่เย็น อุณหภูมิต่ำกว่า 250 C พ้นจากแสงแดดส่องโดยตรง และเก็บยาให้พ้นจากมือเด็ก


เบตาดีน (Betadine)

เบตาดีน (Betadine) เป็นยาสามัญที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยา และร้านสะดวกซื้อทั่วไป สามารถใช้ได้กับคนและสัตว์ ใช้ทารักษาแผลบนตัวปลา สามารถใส่ไปที่แผลโดยตรงได้เลย มีสารออกฤธิ์หลักคือโพวิโดนไอโอดีน (Povidone-Iodine) ซึ่งมีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อโรคที่หลากหลาย เช่น แบคทีเรีย เชื้อรา และไวรัส จึงเหมาะสำหรับการรักษาแผลภายนอกของปลา ช่วยเร่งการสมานแผล ทำให้แผลฟื้นตัวเร็วขึ้น เหมาะกับการใช้เฉพาะจุด เช่นบาดแผลจากการบาดเจ็บ หรือ โรคแผลเปื่อย (Ulcer Disease) สามารถใช้ได้ทุกวันจนกว่าแผลจะหายดี

ข้อควรระวัง : เบตาดีนมีฤทธิ์สูง อาจจะทำให้ระคายเคืองหากใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป ไม่ใช้ในบ่อรวมเพราะอาจจะส่งผลกระทบต่อปลาตัวอื่นๆและจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ และควรหลีกเลี่ยงบริเวณตาหรือเหงือของปลา


Para – Cide

Para – Cide เป็นยาสูตรเข้มข้นสำหรับใช้ป้องกัน และกำจัดปรสิตที่เกาะอยู่บนตัวปลาคาร์ป เช่น เห็บปลา ปลิงใส หนอนสมอ รวมไปถึงโรคจุดขาว ถ้าปลาของท่านมีอาการกระโดด ปลาว่ายน้ำแฉลบ ปลาลอยหัว แสดงว่ากำลังมีปรสิตหรือเชื้อโรคต่างๆเกาะตัวอยู่ ก็สามารถใช้ยาชนิดนี้ได้เลย โดยวิธีใช้จะต้องชั่งตวงอย่างเหมาะสม 1 ml ต่อปริมาณน้ำในบ่อเลี้ยง 1 ตัน นำยาใส่ขวดเปล่าแล้วใส่น้ำเติมลงไปเพื่อลดความเข้มข้น จากนั้นเทใส่ในช่องกรองของบ่อปลา โดยแบ่งทีละน้อย ระยะเวลาห่างกันอย่างน้อย 30 นาที เมื่อครบ 24 ชั่วโมงให้เปลี่ยนน้้ำ 20% และสามารถใช้สำหรับการกักโรคปลา ก่อนลงปลาใหม่ได้อีกด้วย

ข้อควรระวัง : ไม่ควรใช้เกินปริมาณที่แนะนำ หลีกเลี่ยงการใส่โดนตัวปลา ใส่บริเวณที่มีออกซีเจนเยอะ ๆ หรือในช่องกรอง เพื่อลดการสัมผัสโดยตรงกับตัวปลา


Bac – Stop

Bac – Stop ตัวยาสีน้ำเงินผลิตและพัฒนาสูตรโดยสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์น้ำ เหมาะสำหรับปลาคาร์ปและปลาสวยงามทั่วไป มีสรรพคุณป้องกันและกำจัดแบคทีเรีย แผลตามตัว ผื่นแดง แผลเน่า ตกเลือด และแผลติดเชื้อต่างๆ รวมถึงยังสามารถใช้กับ Para – Cide หรือยาฆ่าปรสิตและแบคทีเรียชนิดอื่นๆ ในช่วงกักโรคของปลาใหม่ที่จะลงบ่อได้อีกด้วย ผู้เลี้ยงหลายท่านมักจะนิยมใช้ เรียกว่าเป็นยาสามัญประจำตู้เลยก็ว่าได้เพราะรักษาได้อย่างรวดเร็วและได้ผลดี สามารถใช้ติดต่อกันได้ 7 – 14 วัน แต่จะต้องเปลี่ยนน้ำวันละ 30% เพื่อลดค่าของเสียในช่วงการรักษา

ข้อควรระวัง : ไม่ควรใช้เกินปริมาณที่แนะนำ ใส่บริเวณที่มีออกซิเจนเยอะ ๆ หรือในช่องกรอง เพื่อลดการสัมผัสโดยตรงกับตัวปลา


ในการใช้ยาประเภทต่างๆ แนะนำให้ผู้เลี้ยงแยกปลาที่ป่วยออกมาจากบ่อหลักก่อน ไม่ควรให้ยาลงไปในบ่อหลักที่มีปลาคาร์ปหลายตัว เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไม่ให้ไปติดปลาคาร์ปตัวอื่นๆ รักษาคุณภาพของน้ำในบ่อให้สะอาดอยู่เสมอเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรคต่างๆ และการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้องก็มีความสำคัญในการเลือกยา เพราะจะได้รักษาอย่างตรงจุด และจะช่วยให้ปลาคาร์ปของเรามีสุขภาพที่แข็งแรงและลดการเกิดโรคในระยะยาว ช่วยยืดเวลาให้ปลาคาร์ปได้อยู่กับผู้เลี้ยงไปนานๆ